ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้เชิญผู้ประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยทั้งหมด 9 สาย เข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการยกเลิกเที่ยวบิน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563
การประชุมครั้งนี้เพื่อความเข้าใจในกรณีสายการบินใดที่ต้องการยกเลิกเที่ยวบิน ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศเกิน 15 วัน ต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตจาก กพท. ก่อน ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศ ส่วนสายการบินที่ได้ยกเลิกเที่ยวบินไปแล้ว ต้องดูแลผู้โดยสารอย่างเคร่งครัดตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553
กพท. เป็นหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมพัฒนากิจการการบินพลเรือนของประเทศไทย เข้าใจดีว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารจำนวนมาก และต่อการประกอบธุรกิจของสายการบิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหามาตรการช่วยเหลือสายการบินต่าง ๆ สำหรับผู้โดยสารควรตรวจสอบเที่ยวบินที่จะเดินทาง และติดตามข่าวสารจาก กพท. สายการบินที่จะเดินทางอย่างใกล้ชิด และสามารถร้องเรียนเรื่องสิทธิผู้โดยสารผ่านช่องทางออนไลน์ของ กพท. ได้ที่ www.caat.or.th/complaint และติดตามสถานการณ์การเดินทางที่เกี่ยวกับCOVID-19 ได้ที่ www.caat.or.th/corona
สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ยังให้บริการเที่ยวบินอย่างต่อเนื่องในสภาวะสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนาให้ได้มากที่สุด โดยทำตามมาตรฐานสุขอนามัยสูงสุด ทั้งการใช้เทคโนโลยีระบบกรองอากาศที่ทันสมัยและการตรวจสุขภาพพนักงานที่ให้บริการ ทำให้สายการบินยังคงสามารถให้บริการเที่ยวบินช่วยเหลือผู้โดยสารที่อาจตกค้างให้กลับภูมิลำเนาได้
โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เพิ่มจำนวนเที่ยวบินรวม 10,000 ที่นั่ง
- ให้บริการเที่ยวบินเหมาลำพิเศษจากภูมิภาคเอเชีย สู่ยุโรปและอเมริกา
- เพิ่มเที่ยวบินจากฐานปฏิบัติการ ณ เมืองโดฮา สู่ปารีส เพิร์ท และดับลิน
- อัพเกรดเครื่องบินเป็นแอร์บัส A380 สู่แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน และเพิร์ท
- อัพเกรดเป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับบิน โดฮาสู่กรุงเทพฯและภูเก็ต
สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส ขนส่งผู้โดยสารกว่า 1 แสนคนในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
สายการบินฯ ให้ความร่วมมือกับสถานทูตในประเทศต่าง ๆ และให้บริการเที่ยวบินเสริมแบบเที่ยวเดี่ยว โดยเดินทางจากพนมเปญ บาหลี มะนิลา และกัวลาลัมเปอร์ สู่ภูมิภาคยุโรป
“ปัจจุบัน กาตาร์ แอร์เวย์ส ยังคงให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์สู่จุดหมายปลายทางกว่า 75 แห่ง ซึ่งอาจลดลงเรื่อย ๆ หากประเทศต่าง ๆประกาศจำกัดสิทธิการเดินทางที่เคร่งครัดยิ่งขึ้น”
ตรวจสอบเที่ยวบินที่ยังคงมีให้บริการอยู่ได้ทาง https://www.qatarairways.com/en/travel-alerts/COVID-19-update.html
สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค ประกาศแผนปรับลดความจุผู้โดยสารลง 96% ในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ เพราะรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ได้ยกระดับมาตรการควบคุมการเดินทางให้เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันโควิด-19 นั้น ซึ่งทำให้ผู้โดยสารเดินทางลำบาก ทำให้ความต้องการเดินทางลดลงอย่างหนัก
โรนัลด์ ลัม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าและพาณิชย์ของสายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทางสายการบินจึงจำเป็นต้องปรับลดความจุผู้โดยสารลงอย่างมาก
ทั้งนี้ คาเธ่ย์แปซิฟิค คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ทางสายการบินอาจเผชิญกับความท้าทายในปีงบการเงิน 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจฮ่องกงที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากเหตุการณ์ประท้วง อีกทั้งส่งผลกับความต้องการด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางด้านธุรกิจลดน้อยลงอีกด้วย
สายการบินเอทิฮัด (Etihad Airways) ร่วมกับบริษัท เทนเซ็นต์ โฮลดิ้งส์ (Tencent Holdings Limited) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จากจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อหาโอกาสในการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพลิกโฉมการท่องเที่ยวเข้าสู่ระบบดิจิทัล สายการบินเอทิฮัดตั้งเป้าว่าจะยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ขยายทางเลือกให้แก่ลูกค้า และสร้างความผูกพันกับลูกค้าในจีนให้มากยิ่งขึ้น
สายการบินเอทิฮัดจะอาศัยศักยภาพด้านคลาวด์คอมพิวติ้งของเทนเซ็นต์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง WeChat ซึ่งมีผู้ใช้งานรายเดือนกว่า 1 พันล้านราย เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์การสร้างความผูกพันกับลูกค้าในจีนและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ผ่านเครือข่ายและพาร์ทเนอร์ของเทนเซ็นต์
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ สายการบินเอทิฮัดได้เปิดตัว WeChat Mini Program ซึ่งถือเป็นสายการบินแรก ๆ ในโลกที่นำเสนอบริการนี้บนแพลตฟอร์ม WeChat โดย Mini Program เปิดโอกาสให้แบรนด์ต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน WeChat ผ่านฟีเจอร์ใน WeChat โดยไม่ต้องโหลดแอปหรืออินเทอร์เฟซอื่นเพิ่มเติม สายการบินเอทิฮัดเปิดบัญชี WeChat เมื่อปี 2559 และคาดว่า Mini Program จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าชาวจีนได้มากขึ้น